ประวัติ
อำเภออัมพวา
อัมพวา
ด้วยเหตุที่อำเภออัมพวาเป็นสถานที่สำคัญ
และเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์อยู่มาก
สมัยก่อนเรียกกันว่า "แขวงบางช้าง" เป็นชุมชนเล็ก ๆ
ที่มีความเจริญทั้งในด้านการเกษตร และการพาณิชย์
มีหลักฐานเชื่อได้ว่า ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั้น
แขวงบางช้างมีตลาดค้าขายเรียกว่า "ตลาดบางช้าง"
นายตลาดเป็นหญิงชื่อน้อย มีบรรดาศักดิ์เป็นท้าวแก้วผลึก
นายตลาดผู้นี้อยู่ในตระกูลเศรษฐีบางช้างซึ่งต่อมาเป็นราชนิกุล
"ณ บางช้าง"
เมื่อ พ.ศ. 2303 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
รัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ โปรดเกล้าฯ ให้นายทองด้วง
(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เป็นหลวงยกกระบัตร
เมืองราชบุรี ซึ่งเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา
ต่อมาหลวงยกกระบัตรได้แต่งงานกับคุณนาคบุตรีเศรษฐีบางช้าง
และได้ย้ายบ้านไปอยู่หลังวัดจุฬามณี
ต่อมาเมื่อไฟไหม้บ้านจึงได้ย้ายไปอยู่ที่หลังวัดอัมพวันเจติยาราม
อีก 3 ปี
เมื่อ พ.ศ. 2310 พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตก
หลวงยกกระบัตรจึงตัดสินใจอพยพครอบครัวเข้าไปอยู่ในป่าลึก
ในระหว่างนี้ ท่านแก้ว (สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์)
พี่สาวของหลวงยกกระบัตร ได้คลอดบุตรหญิงคนหนึ่งตั้งชื่อว่า
"บุญรอด" (ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
ในรัชกาลที่ 2)
ครั้งเมื่อพระยาวชิรปราการได้รวบรวมกำลังขับไล่พม่าออกไปหมดแล้ว
ได้สถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าตากสิน
หลวงยกกระบัตรจึงได้อพยพครอบครัวกลับภูมิลำเนาเดิมในช่วงนี้เอง
คุณนาคก็ได้คลอดบุตรคนที่ 4 เป็นชาย ชื่อฉิม
(พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) หลังจากนั้น
หลวงยกกระบัตร ก็ได้กลับเข้ารับราชการอยู่กับพระเจ้าตากสิน
ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา
จนกระทั่งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ต้นราชวงศ์จักรี คุณนาค
ภรรยาก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ คุณสั้น
มารดาคุณนาค
ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี
แต่เนื่องจากสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงเป็นคนพื้นบ้านบางช้างมาก่อน
จึงมีพระประยูรญาติที่สนิท ประกอบอาชีพทำสวนต่าง ๆ
อยู่ที่บางช้างนี้มาก เมื่อได้รับสถาปนาเป็น
สมเด็จพระอมรินทรามาตย์จึงนับเป็นราชินิกุล บางช้าง
พระประยูรญาติจึงเกี่ยวดองเป็นวงศ์บางช้างด้วย
และสมเด็จพระอมรินทร์ฯ มักทรงเสด็จเยี่ยมพระประยูรญาติเสมอ
จึงมีคำเรียกว่า "สวนนอก" คือ สวนบ้านนอก
ที่เป็นของวงศ์ราชินิกุลบางช้าง ส่วนบางกอก
ซึ่งเป็นส่วนของเจ้านายในราชวงศ์ก็เรียกว่า "สวนใน"
มีคำกล่าวว่า "บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน" จนถึงสมัยรัชกาลที่
4 จึงยกเลิกไป
คำขวัญจังหวัดสมุทรสงคราม:
เมืองหอยหลอด ยอดลิ้นจี่ มีอุทยาน
ร 2 แม่กลองไหลผ่าน นมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม
|